สรุปนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) ได้มอบนโยบายและแนวทางการทำงานแก่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2555 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ สรุปดังนี้

• ให้ช่วยพัฒนาการศึกษาอย่างเข้มแข็ง โดยอาศัยผู้ที่มีความรอบรู้ทั้งภายใน-ภายนอกกระทรวง
    ขอให้ช่วยกันทำงานพัฒนาการศึกษาไทยอย่างเข้มแข็ง  ทั้งนี้แม้จะได้รับการศึกษามาจากสถาบันการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาตั้งแต่ช่วงที่เริ่มทำงาน แม้อาจจะมีโอกาสไปสอนหนังสือ เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย นายกสภามหาวิทยาลัยอยู่บ้าง แต่หากพูดถึงประสบการณ์ต่างๆ ด้านการศึกษาแล้ว ท่านทั้งหลายที่อยู่ในกระทรวงศึกษาธิการถือว่ารอบรู้มากกว่า แม้ว่าท่านจะมีความรอบรู้แล้ว แต่เชื่อว่าสิ่งที่ท่านรอบรู้ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาไทยเท่านั้น เพราะเรายังมีผู้ที่มีความรอบรู้อีกมากที่ไม่ได้อยู่ในกระทรวง หรืออยู่ในกระทรวงแต่ไม่ได้อยู่ในห้องนี้



• การศึกษาเป็นหัวใจการแข่งขันของประเทศ
    เรื่องของการศึกษานั้น  ทุกประเทศถือเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศ  เพราะในโลกยุคปัจจุบันที่แข่งขันกันด้วยความรู้ ความสามารถ และคุณภาพของคน ไม่ได้แข่งขันที่จำนวนคนหรือทรัพยากรเหมือนในอดีต การที่จะขับเคลื่อนการศึกษาแต่ละครั้งใช้เวลานานมาก เพราะเกี่ยวข้องกับบุคลากรผู้สอนกว่า 8 แสนกว่าคน และผู้เรียนอีกหลายล้านคน  จึงใช้เวลานานกว่าการพัฒนาอื่นๆ เช่น การสร้างรถไฟฟ้า มาก แต่หากไม่ขับเคลื่อนและไม่ทำอย่างต่อเนื่อง ผลก็จะไม่เกิด
    กระทรวงศึกษาธิการ จะมีทีมการทำงานที่จะเข้ามาร่วมผลักดันนโยบายการศึกษาของรัฐบาล  และจะมีส่วนช่วยเรื่องกฎหมายต่างๆ  ซึ่งหลายท่านเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย
    ขณะเดียวกัน มีคำถามจากคนทั่วไปว่าการศึกษาไทยอยู่ในระดับน่าพอใจหรือไม่ คำตอบคือยังไม่ อยู่ในระดับที่น่าพอใจ จากการวัดกันในระดับนานาชาติ ที่เรียกว่า Program for International Student Assessment : PISA ซึ่งเป็นโครงการประเมินผลนักศึกษานานาชาติ ได้ประเมินผลในกลุ่มประเทศ OECD   จำนวน 34 ประเทศ และประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก OECD อีก 31 ประเทศ รวมเป็น 65 ประเทศ ปรากฏว่า ในเรื่องของการอ่าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์นั้น ประเทศไทยอยู่ในลำดับประมาณที่ 50 ทั้งสามด้าน โดยในระดับอาเซียนสูงกว่าประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น ส่วนประเทศระดับแนวหน้า เช่น สิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น ติดอันดับ 1 ใน 5 ซึ่งสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)  ทราบข้อมูลนี้ดีว่าเด็กไทยเรียนเยอะ     ครูสอนเยอะ แต่เรียนรู้น้อย นี่คือผลสรุปทางวิทยาศาสตร์ คือ การศึกษาไทยใช้เวลาเรียนเยอะ แต่เรียนรู้น้อย เด็กเครียด และจบออกไปแล้วยังสู้เขาไม่ได้

• ให้กระทรวงศึกษาธิการมีบทบาทขับเคลื่อนนโยบายด้านอื่นๆ ของรัฐบาลด้วย ไม่เน้นเฉพาะการศึกษา
    กระทรวงศึกษาธิการต้องร่วมกันขับเคลื่อนในส่วนของนโยบายรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่นโยบายที่เป็นนโยบายเร่งด่วนและนโยบายที่เกี่ยวกับด้านการศึกษาโดยตรงเท่านั้น แต่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องมีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เช่น การเร่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้เพียงพอ ซึ่งปรากฏในนโยบายรัฐบาลข้อ 4.3 นั้น แม้จะไม่เกี่ยวกับการศึกษา แต่การผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้รับผิดชอบในการผลิตคือ สกอ. หรือการสร้างฐานคนที่มีความรู้ ความชำนาญ และความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดความรู้ สร้างนวัตกรรม ซึ่งกำหนดไว้ในนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น ศธ.จำเป็นต้องเข้าไปดำเนินการด้วย เป็นต้น ฉะนั้นจึงมีอีกหลายนโยบายที่ ศธ.จะต้องเข้าไปขับเคลื่อนหรือทำงานร่วมกับกระทรวงอื่นๆ ซึ่งจะเห็นว่าบางเรื่องอาจจะไม่ใช่เรื่องของกระทรวงโดยตรง แต่ก็ต้องดำเนินการร่วมกัน เช่น การแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นต้น

• ประกาศ 10 นโยบาย กระทรวงศึกษาธิการที่จะขับเคลื่อน
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) จะนำนโยบายของรัฐบาลมาขับเคลื่อนให้ต่อเนื่องตั้งแต่นโยบายสมัยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสองท่าน คือ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล และศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช เพราะเป็นนโยบายรัฐบาลที่จะต้องขับเคลื่อนไปให้ประสบความสำเร็จให้ได้ ส่วนในรายละเอียดที่ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาว่ามีอะไรจะปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือดำเนินการไปแล้วประสบปัญหาอุปสรรค ก็ต้องมาหารือกันต่อไป สำหรับนโยบายที่ผู้บริหารควรให้ความสำคัญและขับเคลื่อนการทำงาน โดยสรุปมีดังนี้

1) เร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาและคุณภาพผู้ศึกษา ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ขอให้ทุกคนให้ความสนใจ โดยมีประเด็นย่อย ดังนี้
    - การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ เนื่องจากปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก และจากผลการประเมินด้านการศึกษาของเด็กไทยที่พบว่าเด็กเรียนเยอะ แต่รู้น้อย จึงควรมีการทบทวนว่า เด็กควรจะเรียนอะไรเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ต่อ รวมทั้งเนื้อหาสาระในหลักสูตร ที่ควรจะเน้นพื้นฐานคณิตศาสตร์เพื่อต่อยอดการผลักดันเรื่องการผลิตนักวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สำหรับภาษาอังกฤษก็มีความจำเป็น เพราะจากผลการประเมินของบริษัท Education First ที่รายงานโดย New York Times ได้ประเมิน 54 ประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ พบว่าประเทศไทยอยู่ใน 5 อันดับสุดท้าย ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจะต้องดำเนินการอย่างไรในเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษของเด็กไทย รวมทั้งการใช้ภาษาไทยด้วย เพราะการอ่านเราก็ยังมีปัญหา รวมทั้งควรสร้างจิตสำนึกและค่านิยมที่ถูกต้องให้แก่เด็กด้วย

    - การผลิตคนให้ตรงกับอุปสงค์ทั้งภายในประเทศและระดับสากล ขณะนี้ประเทศขาดบุคลากรด้านการแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รวมทั้งพยาบาลที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องผลิตคนให้ตรงกับอุปสงค์ ตัวอย่างคือในขณะนี้มีบริษัทไทยไปลงทุนซื้อกิจการในต่างประเทศ เช่น โรงงานถลุงเหล็กที่อังกฤษ ก็ต้องการบุคลากรของไทยไปทำงานในต่างประเทศเช่นเดียวกับบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามาเปิดกิจการในเมืองไทย ก็จำเป็นต้องใช้คนญี่ปุ่นเข้ามาทำงานในเมืองไทยด้วย ดังนั้นคนไทยจะต้องมีศักยภาพเพียงพอที่จะไปทำงานในต่างประเทศได้ รวมทั้งเป็นการเตรียมคนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วย โดยครูอาจารย์จะต้องแนะนำนักเรียนนักศึกษาตั้งแต่ต้น หากสนใจเรียนในสาขาที่ขาดแคลน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ หรือเรียนพยาบาลที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนก็จะมีงานรองรับและมีรายได้ที่ดี แต่หากเลือกเรียนในสายสังคมหรือสาขาวิชาที่มีคนเรียนจำนวนมากแล้ว อาจไม่มีโอกาสได้ทำงานตามสาขาที่เรียน หรืออาจต้องไปทำงานในสาขาอื่นที่ไม่ได้เรียน ซึ่งในเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้เน้นให้ กระทรวงศึกษาธิการผลิตคนให้เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ คือในส่วนของอาชีวศึกษาที่จะต้องเน้นทั้งด้านคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมยานยนต์

    - การปลูกฝังคุณธรรมและจิตสำนึกประชาธิปไตย โดย กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการเรื่องการปฏิบัติธรรมของนักเรียนนักศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะการปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ไม่ควรทำเป็นครั้งคราว แต่ควรมีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อต้นปี 2555 ตนได้รับเชิญให้ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเป็นวินัยมาก โดยได้มีโอกาสไปดูงานโรงเรียนประถมศึกษา เพราะเหตุการณ์สึนามิที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้ต่อสู้กับเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเห็นประชาชนมีวินัยในการต่อแถวได้อย่างยอดเยี่ยม จากการดูงานพบว่าได้เห็นการฝึกอบรมด้านวินัยตั้งแต่เล็กๆ เกี่ยวกับการแบ่งหน้าที่ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความเสียสละในห้องเรียน ทั้งนี้หากเรานำแนวทางโรงเรียนวิถีพุทธ หรือดำเนินโครงการครูพระสอนศีลธรรม รวมทั้งการดำเนินโครงการปฏิบัติธรรมสำหรับผู้บริหารของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช) ก็ถือเป็นนโยบายที่ดี เพราะเมื่อได้ผลในทางที่ดีขึ้น ก็ควรดำเนินการต่อไป

    - การพัฒนาคุณภาพครู อาจารย์ โดยเฉพาะด้านที่ขาดแคลน ซึ่งผลการประเมินต่างๆ พบว่ามีครูที่สอนไม่ตรงตามสาขาจำนวนมาก ดังนั้นจึงจะต้องพัฒนาครูผู้สอนเหล่านี้ รวมทั้งครูบรรจุใหม่ให้มีคุณภาพเช่นกันด้วย นอกจากนี้ได้รับทราบปัญหาคนที่มีความรู้ในสาขาที่ขาดแคลน เช่น ด้านภาษา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ที่เต็มใจจะเข้ามาช่วยสอน แต่ติดปัญหาไม่สามารถสอนได้ เพราะไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู แต่ความจริงคือบุคคลเหล่านั้นสามารถสอนในมหาวิทยาลัยได้ ได้รับทราบว่ามหาวิทยาลัยเชิญไปสอนได้ แต่จะไปช่วยสอนประจำในโรงเรียนไม่ได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าหลายท่านมีความรู้มากกว่าครูที่เรามีอยู่เพราะเป็นสาขาที่เราขาดแคลน หรือกรณีที่นำนักศึกษาจากอังกฤษเข้ามาช่วยสอนในโรงเรียน ก็ยังพบปัญหาเช่นกัน ที่จริงแล้วหากเป็นการช่วยสอนไม่น่าจะมีปัญหา เพราะไม่ใช่เป็นครูประจำ โดยเฉพาะธุรกิจต่างๆ ซึ่งมี Corporate Social Responsibility : CSR อยู่แล้ว แทนที่จะไปทาสีโรงเรียน อาจเป็นการช่วยสอนน่าจะดีกว่าด้วยซ้ำไป

    - การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เป็นประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพการศึกษา เข้าใจว่าจะมีหลายโรงเรียนที่ทำได้ดี มีการจัดระบบการศึกษาที่ดี และมีโรงเรียนไปดูเป็นตัวอย่าง ซึ่ง กระทรวงศึกษาธิการควรจะไปดูว่าโรงเรียนใดที่จัดการศึกษาได้ดี มีรูปแบบต่างๆ หลากหลาย และเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่นพิจารณานำไปปรับใช้ได้ จึงควรจะมีการกระจายแนวความคิดดีๆ เหล่านี้เพิ่มขึ้นต่อไป

2) การสร้างโอกาสทางการศึกษา ซึ่งจะครอบคลุม 2 เรื่อง คือ
    - สร้างโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการทุพลภาพ อย่างทั่วถึง เช่น โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ซึ่งในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้เน้นให้โอกาสแก่คนที่ยากไร้ แต่ในระยะหลังได้เปิดโอกาสให้มีการสอบแข่งขัน ใครสอบได้ดี ก็จะได้รับทุน จึงต้องการ     ให้พิจารณาด้วยว่าถึงแม้จะมีทุนสำหรับเด็กเก่ง แต่คงต้องพิจารณาทุนสำหรับผู้ยากไร้เพิ่มเติมด้วย มิฉะนั้น คนที่ยากไร้ก็จะเสียโอกาสที่จะไปศึกษาต่อในต่างประเทศ รวมทั้งด้านความเสมอภาคต่างๆ ด้วย

    - การศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต เช่นการจัดการศึกษาของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่อยู่วัยทำงานได้ยกระดับตัวเอง พัฒนาให้รองรับกับ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ต่อไปเราจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ เพราะคนอายุ 60 ปียังสามารถทำอะไรได้อีกมาก เพราะคนที่อยู่ในวัยทำงานรองรับไม่เพียงพอ ในหลายประเทศให้คนที่อายุมากแล้ว แต่ไม่สูงมากเกินไป กลับมาเป็นปัจจัยการผลิตอยู่ เราจะดำเนินการให้ท่านเหล่านี้ได้รับการพัฒนาเรื่องความรู้ การประกอบอาชีพ เพื่อให้กลับมาเป็นกำลังการผลิตของสังคม มิฉะนั้นเด็กรุ่นหลังเรา จะแบกรับพวกเราไม่ไหว เพราะจำนวนน้อย  แต่ผู้สูงอายุของเรามีจำนวนมากกว่า

3) การนำสันติสุขสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงศึกษาธิการจะต้องประสานงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ดำเนินการเรื่องนี้ ขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้บอกว่า ต้องเน้นการศึกษาในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง กระทรวงศึกษาธิการต้องมีบทบาทย่างมากในเรื่องนี้

4) การแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการอยู่แล้ว แต่ต้องเข้มแข็ง ติดตามใกล้ชิด ในสถานศึกษาต้องไม่มียาเสพติด ซึ่งในสมัยก่อนเรียกว่า "โรงเรียนสีขาว"

5) แท็บเล็ต จะจัดหาในปีนี้สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยขอให้ดูแลในเรื่องการจัดหา โดยให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส ที่สำคัญเนื้อหาสาระในแท็บเล็ตต้องมีการพัฒนาเนื้อหาให้มีความน่าสนใจสำหรับเด็ก เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้

6) การวิจัย เป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่ผ่านมาเหตุที่งบประมาณการวิจัยลดลง ก็เพราะวิจัยไปแล้วคนไม่เห็นการนำไปใช้ประโยชน์ แต่หากวิจัยแล้วสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อภาคการผลิต เป็นประโยชน์ต่อภาคอื่นๆ งบประมาณวิจัยจะไหลเทมาทั้งจากภาครัฐและเอกชน แนวทางแก้ไขอย่างแรกคือ ขอให้ไปดูงานวิจัยที่ทำไว้แล้วที่อยู่บนชั้น บนหิ้งทั้งหลาย งานวิจัยใดที่นำมาปรับใช้เป็นประโยชน์ประยุกต์ใช้ได้ ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ หรือภาคสังคม นำมาปัดฝุ่น แล้วให้คนได้เห็นว่า สิ่งที่วิจัยไปแล้วใช้ได้จริง เป็นประโยชน์จริง อย่างที่สอง เวลาจะวิจัยอะไร หากได้มีการทำงานร่วมกับคนที่จะใช้ผลงานวิจัย เช่น ภาคธุรกิจ หากวิจัยแล้วภาคธุรกิจได้ประโยชน์ หมายความว่าแทนที่รัฐจะต้องเสียงบอุดหนุนงานวิจัยเอง 100% ธุรกิจอาจจะรับทั้ง 100% หรืออาจจะมีส่วนร่วมก็ได้ อย่างนี้ก็จะเห็นว่าทำแล้วได้ประโยชน์ ขอให้นักวิจัยทั้งหลาย นอกจากวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์หรือสังคมศาสตร์แท้ๆ ก็ทำไปส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่นำไปใช้ได้จริง ประยุกต์ใช้ได้จริง ก็ต้องมี ซึ่งจะเป็นส่วนที่ทำให้คนเห็นความสำคัญของงานวิจัย และเราจะได้พัฒนาส่งเสริมงานวิจัยกันมากกว่านี้

7) กองทุนตั้งตัวได้ ขณะนี้เมื่อพิจารณาผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการแล้ว พบว่ามีความพร้อมพอสมควร สามารถดำเนินการนโยบายดังกล่าวได้ นอกจากนี้ผู้ประกอบการทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้ประกอบการใหม่ๆ ที่มีระบบช่วยสนับสนุน ก็สามารถดำเนินการในส่วนที่ชำนาญ แต่ส่วนที่ไม่ชำนาญอาจมีระบบที่มีผู้ดำเนินการให้ ซึ่งอาจไปจ้างอีกประเภทหนึ่งมาดำเนินการ เช่น ผู้ประกอบการบางรายเก่งในด้านการผลิต แต่เรื่องการทำบัญชี การบริหารต่างๆ อาจมีระบบใดเข้ามาช่วยดูแลตรงนี้หรือไม่

8) การผลักดันการปฏิรูปการเมืองเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญของประชาชน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลเช่นกัน โดย กระทรวงศึกษาธิการจะมีส่วนร่วมในการรณรงค์ ทำความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

9) งบประมาณ กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด แต่สิ่งที่จะขอให้พิจารณาคืองบลงทุน โดยขอให้เร่งดำเนินการให้มีการเบิกจ่าย โครงการเดียวกันให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ให้เงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ เพื่อช่วยระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วย อย่าไปปล่อยค้างท่อจนกระทั่งปลายปีงบประมาณ และการจัดซื้อจัดจ้างก็ให้ดำเนินการตามระบบที่โปร่งใส หากไม่จำเป็นต้องใช้วิธีกรณีพิเศษ ก็ขอให้จัดซื้อจัดจ้างโดยระบบปกติ เพื่อจะได้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

10) ยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี 
    - ความโปร่งใส ไม่มีการทุจริตคอรัปชัน นายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร) ย้ำให้ดูแลเรื่องการทุจริตคอรัปชันอย่างเต็มที่ ต้องพยายามไม่ให้เกิดข้อครหา โดยเฉพาะเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง เพราะหากหน่วยงานใดที่มีข้อครหาเกี่ยวกับการซื้อขายตำแหน่ง ก็หลีกไม่พ้นที่จะมีการทุจริตคอรัปชันตามมา ซึ่งจะส่งผลให้คนที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง ตรงไปตรงมา ทำงานอย่างทุ่มเท ก็จะหมดกำลังใจ จึงขอให้ช่วยกันดูแลให้ดี

    - การล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา อีกส่วนหนึ่งที่มีข่าวบ่อยๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง คือ การล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา ระหว่างครูกับนักเรียน อาจารย์กับนักศึกษา และในส่วนของบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะต้องไม่ให้คนในวงการเดียวกันมาทำอะไรที่เป็นการล่วงละเมิดทางเพศ หากเราดำเนินการอย่างจริงจัง เรื่องเหล่านี้ก็จะน้อยลง แต่หากเราไม่เอาจริง ดูเป็นเรื่องที่ไม่ให้ความสนใจ ก็จะเกิดเรื่องนี้ขึ้นบ่อยๆ ในสถานศึกษา

    - ประสิทธิภาพ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงโรงเรียนขนาดเล็กมาก ซึ่งผลประเมินคุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่หากเราจัดระบบรับส่งเด็กจากโรงเรียนขนาดเล็กด้อยคุณภาพ ไปเรียนอีกโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ตั้งห่างไกลออกไป แต่มีคุณภาพดีกว่า โดยผู้ปกครองไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เด็กได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น รวมทั้งเป็นการประหยัดงบประมาณด้วย แต่การดำเนินการจะต้องไม่มีปัญหาเรื่องมวลชน คือชาวบ้านก็ไม่ติดใจ และจัดระบบวิธีการที่ดีในการรับส่งนักเรียนอย่างสะดวก ตรงนี้คือส่วนที่จะช่วยกันพัฒนาขึ้นมา

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช) กล่าวเสริมว่า เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นนักกฎหมาย ดังนั้นจึงจะเข้ามาผลักดันกฎหมายต่างๆ ที่ยังค้างอยู่ เพื่อให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เงินเดือนเต็มขั้น ให้เงินเดือนไหลลื่นได้สะดวกขึ้น โดยให้สามารถไปรับเงินเดือนในอันดับขั้นต่อไปได้ เช่น อันดับ คศ.2 ที่เงินเดือนเต็มขั้นให้รับเงินเดือนในอันดับ คศ.3 ได้ ซึ่งทราบว่าขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งจะดำเนินการโครงการครูคืนถิ่น ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อให้ครูได้มีโอกาสกลับไปดูแลครอบครัวตามเป้าหมายของโครงการ

นอกจากนี้ จะติดตามการขอเลื่อนวิทยฐานะของครูว่า จะมีวิธีอย่างไรที่จะมีทางเลือกให้ผลงานของครูได้รับการพิจารณาเร็วขึ้น ซึ่งปัญหาอาจเป็นเพราะมีผู้อ่านผลงานทางวิชาการไม่เพียงพอ จึงต้องไปพิจารณาว่าจะมีทางเลือกอย่างไรเพื่อให้ครูได้เลื่อนวิทยฐานะเร็วขึ้น เพราะบางคนส่งผลงานไปนานแล้วจนใกล้จะเกษียณ อายุราชการแต่ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณา ส่วนเรื่องเด็กนักเรียนต้องการให้เน้นเรื่องคุณธรรมจริยธรรมควบคู่ไปกับการเรียนการสอน ซึ่งตรงนี้อาจต้องมาพิจารณาว่าจะต้องนำหลักสูตรหน้าที่พลเมืองกลับมาใช้หรือไม่อย่างไร

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช) กล่าวด้วยว่า มีแนวคิดที่จะดำเนินการงานในหลายด้าน ได้แก่ การให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา การทำบัญชีครัวเรือน โครงการในพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ ศูนย์ศิลปาชีพ OTOP ภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของบุคลากร นักเรียน นักศึกษา เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอีกด้วย

นโยบายการศึกษาพงศ์เทพ เทพกาญจนา

แหล่งข้อมูล ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 287/2555